Sunday, November 18, 2007

ในหลวงของเรา



ในหลวงในด้านไอที



ในหลวงกับคอมพิวเตอร์


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยใฝ่รู้และทรงศึกษาอย่างจริงจัง ลึกซึ้งในการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ทรงเห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสนับสนุนการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในด้านส่วนพระองค์นั้น ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจต่างๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย
ความเป็นมาที่พระองค์ท่านทรงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์นั้น ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ตกลงใจซื้อคอมพิวเตอร์แมคอินทอชพลัส อันเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ ม.ล.อัศนี เลือกเครื่องนี้ เพราะสามารถเก็บและพิมพ์โน้ตเพลงได้ การเรียนรู้และใช้งานไม่ยาก ทั้งยังอาจเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสำหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วนพระองค์ทางด้านดนตรี โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการป้อนโน้ตเพลงและเนื้อร้อง พระองค์ท่านทรงศึกษาวิธีการใช้เครื่องและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้วยพระองค์เอง
สำหรับเรื่องอักขระคอมพิวเตอร์หรือฟอนต์ (Font) นั้นเป็นที่สนพระราชหฤทัย ก็เพราะหลังจากที่พระองค์ท่านได้ทรงศึกษา และใช้คอมพิวเตอร์ทำโน้ต คือเมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2529 และทรงทดลองใช้โปรแกรม "Fontastic" เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 สิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยหลายแบบ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ฯลฯ ทรงสนพระทัยประดิษฐ์อักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้ยังตั้งพระทัยในการประดิษฐ์อักษรภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้น คือภาษาสันสกฤต และทรงดำริจะประดิษฐ์อักษรภาษาญี่ปุ่น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มประดิษฐ์ รับสั่งว่าต้องใช้เวลามาก ต่อมาก็ได้ทรงหันมาศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์แสดงตัวเทวนาครีบนจอภาพ หรือที่พระองค์ท่าน ทรงเรียกว่า "ภาษาแขก" ซึ่งจัดทำได้ยากกว่าตัวอักษรภาษาไทย เพราะตัวอักษรเทวนาครีนั้นรูปแบบไม่คงที่ กล่าวคือ ถ้านำส่วนหนึ่งของอักษรนำมาต่อรวมกับอีกส่วนหนึ่งของอักษร จะเกิดอักษรใหม่ขึ้น และโปรแกรมที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนั้นมีตัว phonetic symbols การสร้างตัวอักษรเทวนาครีนั้น ทรงเริ่มเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2530 ทรงศึกษาตัวอักษรเทวนาครีด้วยพระองค์เอง จากพจนานุกรมและตำราภาษาสันสกฤต และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และท่านองคมนตรี ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งจะต้องตรวจสอบตัวอักษรที่ทรงสร้างขึ้น พระองค์นำโปรแกรมออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 มีคำถามว่า เหตุใดพระองค์ท่านจึงทรงสนพระราชหฤทัยในตัวอักษรเทวนาครีหรือภาษาแขก เรื่องนี้มีผู้อธิบายไว้ว่า ในหลวงที่รักของพวกเรานั้น ทรงศึกษาข้อธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและลึกซึ้ง การที่ทรงศึกษาตัวอักษรแขก ก็เพื่อเป็นการนำไปสู่ความเข้าใจด้านอักษรศาสตร์ และความเข้าใจในหัวข้อธรรมะนั่นเอง เรื่องนี้นับว่าพระองค์มีวิจารณญาณที่ลึกซึ้งยิ่งนัก เพราะคำสอนและข้อธรรมะในพุทธศาสนานั้น เดิมทีก็เกิดและเผยแพร่มาจากประเทศอินเดีย บรรดาธรรมะที่ลึกซึ้งและยากแก่ความเข้าใจ ก็อาจจะถูกตีความผันแปรบิดเบือนไปได้ ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าลึกลงไปถึงภาษาแขก จึงน่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะชัดเจนกระจ่างมากขึ้น ต่อมาได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC Compatible และทรงสนพระทัยศึกษาในการพัฒนา Software ต่างๆ และได้สร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งสนพระทัยในเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบนี้มากทีเดียว บางครั้งทรงเปิดเครื่องออกดูระบบต่างๆ ภายในด้วยพระองค์เอง หรือทรงปรับปรุง Software ใหม่ขึ้นใช้ ทรงแก้ซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ งานทรงพระอักษรส่วนพระองค์ และทรงเก็บงานเหล่านี้เป็นเรื่องๆ มาปะติดปะต่อกัน จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ เช่น เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นต้น ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์ "ปรุง" อวยพรปีใหม่ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เดิมพระองค์ได้พระราชทานผ่านเครื่องเทเล็กซ์ นอกจากนี้พระองค์ทรงสนพระทัยคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากขณะเสด็จพระราชดำเนินชมงานนิทรรศการต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระองค์สนพระทัยซักถามอาจารย์และนักศึกษาที่ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นเวลานาน

พระราชกรณียกิจในด้านไอที

1. พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ "...ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ 'Centrum' จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย..." (สุชาติ เผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : 2530)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล
ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ
ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ
ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ
นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน
นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

2. พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง 2 เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. 2525 สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์
พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน
นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. 2495 อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2501 และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. 2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30-12.00 และ 16.00-19.00 วันอาทิตย์ เวลา 9.00-12.00 หยุดทุกวันจันทร์

3. พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม
ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสนองพระราชดำริ ในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหิน ซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง
กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร